DDT Magazine


assajun universe + desktop error
ตุลาคม 31, 2006, 1:19 am
Filed under: ข่าวDDT, Event/ Gig/ Live/ Show, Fat Fest#6, New Release

ประเดิมพื้นที่โฆษณาของเรากับงานแฟตครั้งที่ 6 ด้วยสองวงน้องใหม่จากค่าย SO:ON dry FLOWER นั่นคือ อัศจรรย์จักรวาล และ desktop error ซึ่งแฟน DDT ตัวจริงคงจะคุ้นหน้าค่าตาดีจากคอลัมน์ CDD ของเรา (เอ…ฉบับอะไรน้า)

นอกจากจะได้ร่วมเล่นบนเวที Awayจี เป็นปีแรกแล้ว พวกเขายังมีมินิอัลบั้มมาวางขายในงานแฟตฯ เป็นครั้งแรกอีกด้วย วู้ว!

“มินิอัลบั้มของวงอัศจรรย์ จักรวาล และ Desktop Error  จะวางขายในบูทของ SO:ON dry FLOWER นะครับ ซึ่งในบูธนี้จะมีงานอัลบั้มกูสชุดแรก,  อ้วน-อธิศว์ ศรสงคราม และ ณภัทร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีเสื้อยืดขายด้วย

“สำหรับตารางเวลาเล่น วง Desktop Error จะขึ้นเล่นบนเวทีอเวจี วันอาทิตย์ที่ 12 พ.ย. เวลาประมาณ 21.15 และต่อด้วยวงอัศจรรย์จักรวาล เป็นวงสุดท้าย โปรดติดตามด้วยนะครับ 🙂 ”

ปก Desktop Error
DesktopError

ปก อัศจรรย์จักรวาล
AssajanUniverse



แถวนี้ผมใหญ่สุด

ได้เวลาทำเสื้อยืดกันอีกแล้ว

พอถึงแฟตเฟสทีไรในออฟฟิศเราก็คุยกันแต่เรื่องเสื้อยืดทุกที

ปีที่แล้วบู๊ธแฟตและดีดีทีขายเสื้อยืดรวมกันได้สามพันตัว

แต่เชื่อหรือไม่ผมใส่เสื้อดีดีทีไม่ได้ซักตัว

แล้วจะโทษใคร อยากเกิดมาตัวใหญ่เอง

ปีนี้จะไม่พลาดแล้ว จะเตรียมเสื้อตัวที่ใส่พอดีไปเป็นแบบให้เขาทำไซส์ใหม่เรียกว่าไซส์ป๋า

จึงทำให้เสื้อปีนี้จะมีสี่ไซส์ S M L แล้วก็ ป๋า

ใครมีปัญหาเดียวกันกับผมก็ถามหาไซส์ป๋าได้นะครับ

วันนี้เอาแค่นี้ก่อน

วันหน้าจะมาเล่าเรื่องที่ได้ไปสัมผัสมืออ.ฟูจิโอะ ฟูจิโกะญี่ปุ่นให้ฟัง

ไม่ได้โกหกนะ สัมผัสมือมาจริงๆ

นี่ไง มืออาจารย์เขาจริงๆ

แล้วคราวหน้าจะเล่าให้ฟัง



โปรโมชั่น Fat Fest#6!
ตุลาคม 28, 2006, 3:00 pm
Filed under: ข่าวDDT, Event/ Gig/ Live/ Show

ประกาศด่วน!!!

สืบเนื่องจากงาน Fat Festival ครั้งที่ 6 นี้มีผู้ให้ความสนใจล้นหลาม มีศิลปินมาเข้าร่วมมากมาย ทั้งวงใหญ่ วงเล็ก วงต่างประเทศ ฯลฯ

DDT จึงถือโอกาสนี้ร่วมกับ Fat Fest#6 จัด โปรโมชั่นสุดพิเศษ! สำหรับวงดนตรี/ ค่ายเพลง/ ชาวหนังสือทำมือ/ ชาวหนังสั้น และชาวแฟตทั่วไป ที่อยากโปรโมทเพลง/ วง/ หนังสือ/ งานศิลปะ / ผลิตภัณฑ์ และอื่นๆ ของตัวเอง ผ่านทางเว็บแห่งนี้

+ ส่งรายละเอียดส่วนตัว พร้อมรูปมาได้เล้ย
+ แนะนำตัวให้ดี ไม่ต้องยาวมาก แต่ได้ใจความ
+ บอกให้ครบว่าเล่นวันไหน เวทีไหน เวลาไหน อยู่บูธไหน ฯลฯ
+ อีเมล์มาที่ ddtmagazine@yahoo.com
+ ใส่ชื่อหัวข้อว่า ‘Promote For Fat Fest!’

เรายินดีโปรโมทให้ฟรีจ้า แต่ต้องรีบนะ เพราะยิ่งช้าก็ยิ่งคนเห็นน้อย
หมดเขต วันที่ 8 พ.ย. นี้เท่านั้น 😀

 



คอนเสิร์ตฉลอง 12 ปี DEZEMBER
ตุลาคม 27, 2006, 3:39 pm
Filed under: ข่าวDDT, Event/ Gig/ Live/ Show

ขาร็อคห้ามพลาด!!! 

 

บุกเบิกดนตรีแนว Death Metal (เดธ เมทัล) ในเมืองไทยจนกลายเป็นเจ้าพ่อไปซะแล้ว สำหรับวงร็อคที่ชื่อ “DEZEMBER” (ดีเซมเบอร์) ภายใต้การดูแลของ ค่ายสนามหลวง ในเครือแกรมมี่ ซึ่งล่าสุดพวกเขาทั้ง 4 คน อ๊อฟ-นรเทพ จินดามาตย์ (ร้องนำ) , ต้น-สยาม ชุมทอง (กีต้าร์) , เช็ค-ณพล เย็นแจ่ม (เบส) และ รัตน์-รัตน์ โกบายาชิ (กลอง) เตรียมเขย่าวงการเพลงให้คึกคักส่งท้ายปีกันอีกครั้ง ด้วยคอนเสิร์ตใหญ่ “STILL ALIVE CONCERT DEATH’S NOT DEAD” ฉลองครบรอบ 12 ปี ดีเซมเบอร์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ ที่สตูดิโอ 125 (เหม่งจ๋าย) เวลา 15.00-23.00 น. โดย ต้น มือกีต้าร์ เล่าให้ฟังว่า

“สำหรับแฟนเพลงที่รอคอนเสิร์ตของพวกเรามานาน คราวนี้ได้ดูกันเต็มอิ่มแน่ครับ เพราะว่าวงเราก่อตั้งกันมาครบ 12 พอดีด้วย ก็เลยอยากทำอะไรพิเศษให้แฟนตัวจริงได้มาฉลองด้วยกัน เลยถือถกษ์ดีครบโหลทั้งทีจัดคอนเสิร์ตใหญ่ ชื่อ “STILL ALIVE CONCERT DEATH’S NOT DEAD” ขึ้น ซึ่งงานนี้เราจัด กันแบบ ‘ใหญ่’ และก็ ‘ยาว’ จริง ๆ ครับ คือเป็นบิ๊กคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ของวงก็ว่าได้ ส่วนเรื่องไฮไลท์นอกจากจะได้ดูพวกเราเล่นไลฟ์สดที่จะขุดเอาเพลงเด็ดๆ จากทั้ง 5 อัลบั้ม ไม่ว่าจะเป็น ลัทธิซาตาน , วินาศกรรม , บาป , คลั่ง และอัลบั้มล่าสุด “NATURALISM” (เนเชอรัลลิสซึ่ม) มาให้แท็คกันแบบเต็มอิ่มยาวนานหลายชั่วโมงแล้ว ยังมีแขกรับเชิญอีกเยอะมากครับ เรียกว่าศิลปินแนวเดธเมทัลดัง ๆ ทั่วฟ้าเมืองไทย ทั้ง วงกล้วยไทย , OUTRO , THE HARD SET , BRANDNEW SUNSET , OBIVIOUS , QUAKE , RETROSPECT , MAYTERIA , TAZZMANIAN ฯลฯ จะรวมตัวมาเล่นสดให้โดดกันมันสะใจ รับรองคุ้มเกินโหลแน่นอนครับ ใครเป็นแฟนพันธุ์แท้งานนี้ไม่ควรพลาดนะครับ อยากให้มากันเยอะ ๆ จะได้ร่วมฉลอง 12 ปี ดีเซมเบอร์ให้มันสุดๆ ไปพร้อม ๆ กัน บัตรก็หาซื้อได้ที่ร้านดีเจ.สยาม , ร้านน้องท่าพระจันทร์ , ร้านเจไดเดอะมอลล์บางกะปิ และ ร้านอร่อยหูอิมพิเรียลสำโรง ราคาเพียง 300 บาทเท่านั้น ! ” ต้น กล่าว

http://www.dezemberfanclub.com/



New Release: Apartment Khunpa
ตุลาคม 26, 2006, 12:28 pm
Filed under: ข่าวDDT, New Release

อัลบั้ม ‘ROMANTIC COMEDY’

วางจำหน่ายแล้วในรูปแบบซีดี! ติดตามได้เกือบทุกแผง-เกือบทั่วประเทศ–วันนี้!



Rehab today!
ตุลาคม 26, 2006, 12:21 pm
Filed under: ข่าวDDT



FullMoon Party with DJ Suharit & his Coyote!
ตุลาคม 26, 2006, 12:30 am
Filed under: ข่าวDDT



แถลงข่าว Mr.D อัลบั้ม D-Day
ตุลาคม 25, 2006, 2:53 pm
Filed under: ข่าวDDT



DDT: Musiclopedia
ตุลาคม 24, 2006, 2:58 pm
Filed under: DDT Inside

“Progressive Rock/ Art Rock”

[Published in DDT Magazine Issue#3]

“โปรเกรสซีฟร็อก (Progressive rock) และอาร์ตร็อก (Art Rock) คือสองแนวดนตรีที่เป็นเสมือนคู่ฝาแฝดในกันและกัน อันถือกำเนิดจากนักดนตรีชาวอังกฤษที่พยายามยกระดับดนตรีร็อกให้สูงล้ำขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความสลับซับซ้อนของเนื้อดนตรีที่ทวีขึ้นอีกหลายเท่าตัว ความโดดเด่นของเนื้อหาที่ลึกซึ้งราวกับยกมาจากบทกวีในวรรณกรรมโบราณระดับคลาสสิค และการเล่นดนตรีที่หลุดออกจากกรอบของกีตาร์เบสกลองทั่วๆ ไปในช่วงปลายยุค 60

“ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดจากเพียงไม่กี่ประการของสองแนวดนตรีนี้คือ โปรเกรสซีฟ ร็อก นั้นจะมีรูปแบบดนตรีที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่า และแนบชิดอยู่กับอิทธิพลของดนตรีคลาสสิค ส่วนเนื้อร้องก็จะให้ความสำคัญกับความสละสลวยทางการประพันธ์มากกว่า หากไม่เป็นการร่ายบทกวีก็จะเป็นเรื่องราวในแบบนิยายวิทยาศาสตร์ ในขณะที่อาร์ตร็อกนั้นจะมีลักษณะของการทดลองและได้รับอิทธิพลของดนตรีอวองการ์ตในปริมาณที่สูงกว่า และทดแทนความทะเยอทะยานในโลกของดนตรีคลาสสิคของเนื้อเสียงที่แปลกใหม่แทน

“ทั้งสองแนวดนตรีแตกต่างจากแวดวงป๊อปที่ขับเน้นซิงเกิ้ลความยาวสามนาทีเป็นหลัก ด้วยการนำเสนอบทเพลงในรูปแบบของอัลบั้มเป็นสำคัญ รวมทั้งการประพันธ์เพลงที่ยาวขึ้น มีโครงสร้างซับซ้อนขึ้น และการบรรเลงดนตรีที่ขยับขยายแนวทางและลีลาออกไปอีก และจากประวัติศาสตร์กว่าสามทศวรรษของศิลปินในแนวทางโปรเกรสซีฟร็อก อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเสมือนเอกลักษณ์หนึ่งก็คือ การทำอัลบั้มที่มีเนื้อหารวมศูนย์อยู่ที่แนวคิดรวบยอดเพียงเรื่องเดียวหรือที่เรียกกันว่า คอนเซ็ปต์อัลบั้ม (Concept Album) นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของชีวิตศิลปินที่ถือกำเนิดมาหลังจากยุคสงครามโลกครั้งที่สองของ Pink Floyd (อัลบั้ม The Wall) หรืออัลบั้ม Tales From Topographic Ocean ของ Yes ที่นำแนวคิดมาจากบทความเกี่ยวกับวิถีของโยคี (Autobiography of a Yogi) ในขณะเดียวกันแนวดนตรีสองแนวนี้ก็เป็นแนวทางแรกที่ริเริ่มนำซินซิไซเซอร์และรายละเอียดดนตรีในแบบอิเล็กโทรนิคเข้ามาสู่ดนตรีร็อก

“เมล็ดพันธุ์แรกๆ ที่ส่งผลออกดอกออกมากลายมาเป็นดนตรี โปรเกรสซีฟ และอาร์ตร็อกในเวลาต่อมานั้นจะจุดเริ่มอยู่ในบทกวีของ Bob Dylan และอัลบั้มในแบบคอนเซ็ปต์อย่าง Freak Out! ของ the Mothers of Invention และ Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ของวงสี่เต่าทอง the Beatles ซึ่งพิสูจน์ให้โลกเห็นว่ดนตรีร็อกสามารถเป็นได้มากกว่าดนตรีของวัยรุ่น และสามารถนำเสนออย่างจริงจังในรูปแบบของงานศิลปในอีกรูปแบบหนึ่งได้

“ดนตรีโปรเกรสซีฟร็อกได้เติบโตขึ้นอย่างจริงจังภายหลังจากจุดสูงสุดของซีนไซคีเดลิคในปี 1967 ด้วยผลงานคลาสสิคอล/ซิมโฟนิก ร็อก (Classical/Symphonic rock) ของ the Nice, Procol Harum และ the Moody Blues ก่อนที่จะสร้างเอกลักษณ์เฉพาะแนวทางขึ้นมาด้วยฝีมือของวง King Crimson กับอัลบั้มชุดแรก In the Court of the Crimson King ในอีกสองปีหลังจากนั้น และเริ่มขยับขยายเป็นสังคมของตัวเองอย่างเด่นชัดที่เมืองแคนเตอร์เบอรี่ที่มี the Soft Machine เป็นหัวหอก จากนั้นก็กลายมาเป็นกระแสหลักของความนิยมในช่วงครึ่งแรกของยุค 70 Emerson, Lake & Palmer, Yes, Jethro Tull, Genesis และ Pink Floyd คือวงดนตรีระดับแนวหน้าในช่วงเวลานั้น ในขณะเดียวกันแวดวงของศิลปินที่มีรูปแบบการนำเสนอที่สลับซับซ้อนกว่านั้นก็ถือกำเนิดขึ้นในประเทศเยอรมนี

“อย่างไรก็ตาม กระแสความนิยมของดนตรีโปรเกรสซีฟ และอาร์ตร็อก ก็ถึงจุดอิ่มตัวและเสื่อมสลายลงในช่วงครึ่งหลังของยุค 70 พร้อมทั้งถูกแทนที่ด้วยดนตรีที่เรียบง่าย และก้าวร้าวในเนื้อหาอย่างดนตรีพังค์ ที่มีรูปแบบตรงกันข้ามกับความซับซ้อนเข้าใจยากของสองคู่แฝดนี้อย่างโดยสิ้นเชิง ศิลปินในแนวทางนี้ส่วนใหญ่ก็จะล้มหายตายจากไป เหลือเพียงผู้นำกระแสเพียงไม่กี่ราย ซึ่งเกือบทั้งหมดต้องปรับรูปแบบดนตรีเพื่อให้เข้ากับความต้องการของคนฟัง ซึ่งกลายมาเป็นต้นธารแรกของดนตรีโปรเกรสซีฟร็อกในแบบร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น จากผลงานของวงอย่าง Marillion ในยุค 80

“บทเพลงในแบบโปรเกรสซีฟร็อก หรือาร์ตร็อกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลของนักดนตรีไทยในช่วงนี้เอง อาทิบางส่วนของเพลงของวง Rockestra ในยุคแรกทั้ง เทคโนโลยี หรือ วิทยาศาสตร์ ทว่าส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ในวงแคบๆ ไม่ว่าจะเป็นอัลบั้ม เรามาร้องเพลงกัน ของ เรวัต พุทธนันทน์ กับวงคีตกวี อัลบั้มของวงอนัตตา และงานเพลงของวง Butterfly Camera Eyes หรือจินตา แม้กระทั่งธเนศ วรากุลนุเคราะห์ก็เคยสร้างสรรค์งานในแนวทางนี้กับอัลบั้ม คนเขียนเพลงบรรเลงชีวิต มาแล้ว แต่ก็เป็นเพียงการจุดประกายเล็กๆ เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่ดนตรีโปรเกรสซีฟได้ตายไปจากธุรกิจเพลงไปแล้ว ก่อนที่จะพัฒนาจนกลายเป็นดนตรีโปรเกรสซีฟเมทัลในช่วงยุค 90 ที่สร้างความสำเร็จได้พอสมควร จนเกิดเป็นขบวนการนีโอโปรเกรสซีฟร็อกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ในงานของ Dream Theater, Ayreon, Spock’s Beard ฯลฯ อันแสดงให้เห็นว่าถึงแม้ว่ารูปแบบดั้งเดิมของโปรเกรสซีฟ หรืออาร์ตร็อกจะเสื่อมความนิยมลง แต่จิตวิญญาณของทั้งสองแนวก็ยังคงแอบแฝงอยู่ในนักดนตรีที่ต้องการนำเสนอบางสิ่งบางอย่างนอกเหนือจากดนตรีที่ตรงไปตรงมาในแบบมาตรฐานตลอดมาเช่นเดียวกัน”

Top Artists
+ Emerson, Lake & Palmer
+ Genesis
+ King Crimson
+ Pink Floyd
+ Yes
+ อนัตตา
+ Butterfly
+ Camera Eyes
+ เสียมเรียบ
+ พงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

Top Albums
+ Dark Side of the Moon / Pink Floyd
+ In the Court of the Crimson King / King Crimson
+ Todd Rundgren’s Utopia / Utopia
+ The Human Equation / Ayreon
+ Kalevala: A Finnish Progressive Rock Epic / Various Artists
+ Butterfly II / Butterfly
+ คนเขียนเพลงบรรเลงชีวิต / ธเนศ วรากุลนุเคราะห์
+ ปลายศตวรรษที่ 20 / ปนาพันธ์ II
+ สมุทรกำสรวล / เสียมเรียบ
+ แชมบาลา / พงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

Top Songs
+ Supper’s Ready / Genesis
+ Thick As A Brick / Jethro Tull
+ Close to the Edge / Yes
+ Karn Evil 9 / Emerson, Lake & Palmer
+ Cygnus X-1 Book II Hemispheres / Rush
+ พรรณวดี / อนัตตา
+ ดนตรีคีตา / เรวัต พุทธินันทน์ และ คีตกวี
+ Action! / Butterfly
+ (จิต) จากใจ / ธเนศ วรากุลนุเคราะห์
+ ภาพสุดท้าย / Camera Eyes



รู้ป่าวใคร?
ตุลาคม 21, 2006, 3:03 pm
Filed under: เรื่องทั่วไป

 

ดูผ่านๆ นึกว่า ‘ป้าแห้ง’ ที่ไหนมาบ้าพลังอยู่บนเวที -_-!
แต่ถ้ามองดูให้ดี…อ้าว นี่มัน (อดีต) สาวน้อยน่ารักแห่งฮอลลีวู้ดน่ะเอง Juliette Lewis ที่ตอนนี้กำลังเมามันกับวงดนตรีสุด freak ของเธอกับเพื่อน Juliette & the Licks (หลักฐานความเมามันดูจากภาพประกอบ)

และถ้ายิ่งมองให้ลึกลงไปอีก…ก็จะพบว่า Juliette มีทัศนคติที่น่าสนใจมากๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบคนดัง–

“All that schooling never prepares you for the reality of life.”
“Because I’m not perfect looking, I get to play better roles.”
“Being beautiful can be a curse, especially if you want to be an artist and create.”
“Fame can be just so annoying because people are so critical of you. You can’t just say, ‘hi’. You say hi and people whisper’ man did you see the way she said hi? What an attitude.”
“I don’t make an effort to be sloppy. I just don’t consider a perfect hairdo and a perfect face to be beautiful. If I had my way I’d dress myself and do my own makeup for magazine shoots.”
“I don’t want to be famous as a movie star and have the whole world love me, I want to be a creative actress.”
“I knew I could live no other way, that the one thing I wanted was to act and do it well.”
“I think I can be beautiful with all the little stuff done, and I can be ugly. A lot of attractive actresses can’t be ugly.”
“I would never get a boob job. Those big-titted girls by the hotel poolsides? You just want to spit-shine them.”
“Success is a nice by-product but what I really want is work.”
“The bravest thing I ever did was continuing my life when I wanted to die.”

ในยุคที่เมืองไทย (และอีกหลายเมืองทั่วโลก) เต็มไปด้วยคนอยากมีชื่อเสียง เด็กตัวเล็กตัวน้อยฝันอยากเป็นดารานักร้องมากขึ้น พ่อแม่เห็นดีเห็นงามและเอาจริงเอาจังกับการกล้าแสดงออกของลูกมากๆ การมีหน้าตาดี (และเซ็กซี่) ทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องง่าย ศัลยกรรมความงามกลายเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนไปถอนฟัน เรียลลิตี้โชว์สร้างฝันให้คนธรรมดากลายเป็นคนดังในพริบตา อะไรต่างๆ ทำนองนี้ ฯลฯ

ทำให้เราถึงกับสะอึกเมื่อไปอ่านเจอคำให้สัมภาษณ์ของ Juliette Lewis เหล่านี้ ที่สะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาการดำเนินชีวิตของเธอ …เธอคิดว่าการมีชื่อเสียงมันน่ารำคาญ เธอไม่ได้อยากมีชื่อเสียงจากการเป็นดาราเพื่อหวังให้คนทั้งโลกมารักเธอ เธออยากได้ชื่อว่าเป็นนักแสดงที่เก่ง เธอห่วงว่าจะไม่ได้เป็นตัวของตัวเองมากกว่าจะห่วงสวย เธอคิดว่าความสวยคือคำสาปสำหรับการเป็นศิลปินและความคิดสร้างสรรค์…

สรุปคร่าวๆ คือ “รู้จักตัวเอง รักตัวเอง และยืนยันที่จะเป็นตัวของตัวเอง/ ทำงานด้วยความรักและตั้งใจ ไม่ใช่เพื่อชื่อเสียง เงินทอง” สังเกตดีๆ จะพบว่าสะท้อนแนวคิดทางพุทธศาสนาอยู่มาก เช่น การไม่ยึดติดกับเนื้อหนังมังสา การพอใจในสิ่งที่มีอยู่ และไม่ฟุ้งเฟ้อไปกับชื่อเสียงมายา เป็นต้น

แม้จะแอบคิดอยู่บ้างว่า การให้สัมภาษณ์ของเธอมันจะตรงกับชีวิตของเธอจริงๆ สักแค่ไหน ก็เพราะเราได้บทเรียนจากการที่คนดังยอมโกหกหลอกลวงเพื่อสร้างภาพตัวเองมานักต่อนักแล้ว นี่อาจเป็นอีกหนึ่งของการหลอกลวงที่สุดคูลก็ได้ ฮ่าๆ (ทำเป็นไม่สนใจและคิดว่ามันจริงก็แล้วกัน อย่ามองโลกในแง่ร้ายไปหน่อยเลยน่า)

สรุป-นิทานชีวิตเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่างน้อย DDT ก็จะพยายามทำความรู้จักกับตัวเองให้มากขึ้น เดินหน้าทำหนังสือที่รัก และไม่ว่าจะอย่างไร ก็ขอสนับสนุนวงการเพลงไทย และศิลปินที่มีคุณภาพทุกคนต่อไปจ้า 😀